Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

5 ประโยชน์ในการฝึกจำแนกสีสำหรับมือใหม่

5 ประโยชน์ในการฝึกจำแนกสีสำหรับมือใหม่ การจำแนกสีจากภาพ คือการแยกสีที่เห็นอยู่ในภาพออกมาว่ามีสีอะไรบ้าง ดูองค์ประกอบสี และความสัมพันธ์ของสีในภาพเพื่อการเข้าใจเรื่องสีสันในการถ่ายภาพให้มากขึ้น มือใหม่จึงต้องฝึกจำแนกสี เพื่อสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของสีที่มีต่ออารมณ์ และลักษณะความสัมพันธ์ของสีที่มีผลต่อความน่าสนใจ 

เมื่อเริ่มการฝึกฝนอาจจะเป็นเรื่องยากและอาจจะดูไม่เข้าใจ แต่เมื่อฝึกฝน และมองภาพที่เห็น จำแนกสีเป็นประจำแล้ว เราจะสามารถจัดกลุ่มและเห็นรูปแบบสีได้ดีขึ้น และเข้าใจสีมากยิ่งขึ้น 

5 ประโยชน์ในการฝึกจำแนกสีสำหรับมือใหม่

1. เข้าใจรูปแบบความสัมพันธ์ของสี 

ในธรรมชาติหรือรูปภาพที่เรามองจะมีสีสันที่เกิดขึ้น เมื่อนำมาจำแนกและแยกสี และเทียบกับวงล้อสี ก็จะเห็นความสัมพันธ์ของสีที่แตกต่างกัน บ้างมีเฉดสีที่ตัดกัน เช่น สีแดงและสีเขียว บ้างก็เป็นสีที่เรียงตามความเข้มอ่อนของสี หรือเป็นสีที่เรียงกันในวงล้อสี ซึ่งเมื่อเราจำแนกสีออกมาจากสิ่งที่เรามองเห็น เราก็จะเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ และสามารถใช้ความสัมพันธ์นั้นเพื่อช่วยในการจัดองค์ประกอบภาพด้วยสีสัน เพื่อให้ภาพสื่อสารถึงความรู้สึก ความหมาย หรือการสร้างภาพให้ดูสะดุดตา 

2. เรียนรู้สีสันสื่อเพื่อความหมายและให้อารมณ์ภาพ

ก่อนที่จะมีการคิดค้นเทคโนโลยีถ่ายภาพเพื่อบันทึกภาพลงในฟิล์ม จิตรกรจะใช้การวาดภาพเพื่อสื่อสารถึงความคิดและอารมณ์ โดยจะเลือกจากการใช้สีและลายเล้นเพื่อสื่อสารถึงความรู้สึก แสดงถึงอารมณ์เมื่อเรามองงานศิลปะ มักจะเห็นสีเข้ม ทึบ อยู่ในวรรณะเย็น เพื่อสื่อออกมาถึงความเศร้า หดหู่ เก็บกด สีสันในวรรณะร้อนสื่อได้ถึงความสดใส ใช้แสงที่ดูสว่างเพื่อให้เห็นความอบอุ่น ความหวัง ความมีชีวิตชีวา สีอ่อนให้ความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ไม่หนัก

เช่นเดียวกันกับการใช้สีสันในภาพถ่ายก็สามารถสร้างบรรยากาศทางอารมณ์ของภาพได้เช่นกัน สีเป็นตัวส่งสารที่ทรงพลัง สามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ดูสร้างการเชื่อมโยงระหว่างความคิด ดึงดูดและนำสายตาไปรอบๆ รูปภาพและทำให้ผู้ชมรู้สึกดื่มด่ำและมีความสัมพันธ์กับภาพของเรามากยิ่งขึ้น 

เมื่อเราฝึกแยกสีออกมาแล้ว เราจะเห็นตัวอย่างในภาพที่ให้อารมณ์ได้ชัดเจนว่าประกอบด้วยสีอะไรบ้าง ภาพถ่ายนั้นมีการใช้สีอย่างไร ด้วยความสัมพันธ์แบบไหน จึงสร้างและสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกอย่างที่ช่างภาพต้องการ 

3. ใช้สีเพื่อดึงดูดความสนใจได้ 

สีใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดความสนใจได้ เมื่อจำแนกสีจากภาพที่สะดุดสายตาจะเห็นว่าประกอบด้วยสีที่มีความเปรียบต่างสูง หรือสีที่อยู่ตรงข้ามในวงล้อสี หรือมีความสัมพันธ์แบบตรงกันข้าม สร้างความเปรียบต่างให้เกิดขึ้นได้ เช่น สีแดงและสีเขียว หรือสีส้มและสีม่วง

เมื่อภาพที่เห็นมีสีลักษณะเหล่านี้จะกระตุ้นการมองเห็นของมนุษย์ รู้สึกถึงแรงกระทบ ความรุนแรง รู้สึกโดดเด่น ถึงแม้จะมีสีอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบก็ตาม ซึ่งในการถ่ายภาพเราสามารถใช้สีที่มีความเปรียบต่างสูง (สีสันฉูดฉาด) เพื่อเห็นองค์ประกอบในภาพ หรือจะใช้เพื่อการแต่งภาพ ก็จะช่วยให้ภาพนั้นดึงดูดความสนใจได้ 

4. เข้าใจหน้าที่ของแต่ละสีในภาพ

ในภาพถ่ายสีจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มที่เห็นได้ชัด คือสีสันที่เป็นสีหลัก และสีสันที่ใช้เพื่อปรับให้มีความกลมกลืน หรือทำให้สีที่อยู่ด้วยกันนั้นมีความเข้ากันได้ถึงแม้จะอยู่ต่างวรรณะสีก็ตาม สีที่เห็นก่อนมักจะเป็นสีที่อยู่ในวรรณะร้อนเช่น เหลือง แดง ส้ม และสีที่เห็นถัดมาจะเป็นสีที่อยู่ในวรรณะเย็นเช่น น้ำเงิน เขียว ฟ้า

โดยในธรรมชาติเราจะเห็นความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เช่นกัน เช่นดอกไม้จะมีสีสันที่ฉูดฉาด เพื่อดึงดูดสายตา และสีเขียวหรือฟ้า จะเป็นพื้นหลัง ถ้าเราจะใช้ในการถ่ายภาพเราสามารถเลือกสีของตัวแบบและพื้นหลัง เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับภาพถ่ายของเราได้ 

5. สัดส่วนของสีที่ใช้และความสัมพันธ์กับสัดส่วนภาพ

เมื่อเห็นรูปแบบของสีความสัมพันธ์และหน้าที่ของแล้ว จะเห็นว่าในภาพวาด หรือภาพถ่าย สีที่ใช้จะมีสัดส่วนในภาพที่แตกต่างกัน ถ้าต้องการให้สีสันที่ใช้มีแรงกระทบต่อสายตาหรือความรู้สึกที่มากขึ้น สีในภาพจะมีสัดส่วนในภาพที่มากขึ้น เช่น อยากให้ภาพรู้สึกรุนแรง ชัดเจน ก็ใช้สีนั้นในสัดส่วนที่มากขึ้น อาจจะมากกว่า 70% ของพื้นที่ทั้งหมด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเลือกใช้จำนวนสีน้อยเช่นเลือกใช้สีเพียงสองสีในภาพ ปริมาณหรือสัดส่วนจะมีผลต่อแรงกระทบน้อยเมื่อเทียบกับตำแหน่งที่วาง เพราะจะให้แรงกระทบที่มากกว่า เช่น ดอกไม้สีเหลืองเพียงดอกเดียวอยู่บนพื้นหลังที่เป็นใบไม้สีเขียวทั้งหมด โดยสีเขียวกินพื้นที่ส่วนมากของภาพ แต่ดอกไม้กลับให้แรงกระทบหรือมีผลต่อสายตามากว่า

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND

อ่านบทความสำหรับมือใหม่

Exit mobile version