Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

10 วิธีฝึกทักษะการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ ที่ทำให้สนุกได้ทุกวันและไม่น่าเบื่อ

10 วิธีฝึกทักษะการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ ที่ทำให้สนุกได้ทุกวันและไม่น่าเบื่อ ทำไมต้องมีเรื่องนี้ เพราะว่าการถ่ายภาพไม่ได้เกิดจากความสามารถเพียงอย่างเดียว เเต่อาศัยการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ

แต่การฝึกสำหรับหลายคนดูแล้วอาจจะหาแรงจูงใจยากในการฝึก หรือรู้สึกว่าหลาย ๆ อย่างที่เรียนกรู้มามันยาก ลองดูไอเดียการฝึกเรื่องเหล่านี้ดู เชื่อว่าจะทำให้เราสนุกกับการฝึกถ่ายรูปมากขึ้น และไม่น่าเบื่อด้วย

10 วิธีฝึกทักษะการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ ที่ทำให้สนุกได้ทุกวันและไม่น่าเบื่อ

1. สังเกตเรื่องแสงในแต่ละช่วงเวลาให้บ่อย ๆ อันนี้ไม่ต้องหยิบกล้องมาถ่ายก็ได้ แค่สังเกตก็พอ

แสงเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้ภาพดูโดนเด่น น่าสนใจ เวลาจะถ่ายภาพ ลองคำนึงถึง สีของเเสงที่จะได้ จากเเสงธรรมชาติในช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน  แสงช่วงเช้า ช่วงเย็น และทิศทางของเเสงที่จะตกกระทบ การเกิดเงาทาบลงบนพื้นผิว ทำให้ภาพมีความน่าสนใจ เเละโดดเด่น ขึ้นมาได้ดีทีเดียว

ยิ่งถ้าเป็นภาพบุคคลเเล้ว แสงที่ลงมาบนตัวเเบบ หรือเงาที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาของคนที่มอง ให้สนใจในตัวของวัตถุที่เป็นแบบมากขึ้น แม้ในบางครั้งภาพที่น่าสนใจ กลับไม่ได้เผยให้เป็นใบหน้าของตัวเเบบ เเต่เป็นเพียงเงา หรือโครงสร้างของตัวเเบบเท่านั้น

2. ฝึกถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ (อันนี้เหมาะสำหรับมือใหม่มาก ๆ)

โดยปกติแล้วมือใหม่นั้นมักจะยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอได้ง่าย ๆ ในครั้งแรก (อาจจะรู้แค่ว่าใช้เลนส์ F เลขน้อย ๆ แล้วหลังจะละลาย) แต่ว่าการควบคุมกล้องให้หลังละลายนั้นประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่รูรับแสงก็มีผล ทางยาวโฟกัสของเลนส์ก็มีผล ระยะที่ช่างภาพห่างจากแบบก็มีผล ไหนจะเรื่องระยะห่างของตัวแบบกับฉากหลังก็มีผลด้วย

เราจะเห็นได้ว่าการถ่ายหน้าชัดหลังเบลอไม่ได้มีแค่ที่เลนส์เพียงอย่างเดียว การฝึกในหลาย ๆ แบบทำให้เราเข้าใจปัจจัยเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น สามารถฝึกเพิ่มเติมได้จากบทความที่แนบมาด้านล่างครับ

บทความและวีดีโอสอนสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ

3. ฝึกที่จะเลือกจัดสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในเฟรมภาพ ว่าอะไรควรอยู่ในภาพ และอะไรที่ไม่ควรอยู่ในภาพ

ผมว่าเราอาจจะเคยเจอความรู้สึกแปลก ๆ เมื่อพบว่าวัตถุบางอย่างไม่ได้ควรอยู่ในภาพของเรา คือมันไม่ของที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสื่อสารในภาพหลักของเราแล้วมันดันเข้าไปอยู่ในนั้น เช่น ถังขยะ เศษถุงพลาสติก แต่กลับไปอยู่ในภาพวิวที่สวยงาม ทำให้เมื่อคนที่มองไปในภาพที่เราถ่ายเเล้ว สิ่งที่ไม่ต้องการเหล่านั้นดันไปแย่งซีนความเด่นของการเล่าเรื่องในภาพเราซะอย่างนั้น

หรือบางอย่างที่ควรอยู่ในเฟรมภาพนั้นกลับไม่มี อันนี้ก็จะเป็นอีกมุมหนึ่งเหมือนกันที่ทำให้ภาพถ่ายอาจจะสื่อสารได้ไม่เต็มที่ตามอย่างใจเราต้องการ ดังนั้นลองฝึกที่จะเลือกว่า อะไรควรอยู่ในภาพ และอะไรไม่ควรอยู่บ้างก็ได้ (แนะนำหา Photobook ดูเรื่อย ๆ จะทำให้เราสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น)

รวมบทความเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพ

4. ฝึกถ่ายภาพตามแบบที่เราชอบ ไม่ต้องตามกระแสทุกครั้งไปก็ได้ ชอบอะไร ก็ฝึกถ่ายแนวนั้น (เราถ่ายเพราะความสุขเรา)

อันนี้ไม่ได้บอกว่าการฝึกถ่ายตามกระแสไม่ดีนะ แต่บางครั้งภาพบางแนว ผมไม่ถนัดจริง ๆ แล้วถ่ายเราไม่ได้ inspire หรือมีแรงจูงใจที่จะถ่ายมากนัก ผมอาจจะชอบถ่ายแนวเที่ยวเพื่อเล่าเรื่องประกอบบทความ อาจจะไม่ได้ถนัดแนว Portrait ซึ่งถ้าว่ากันตรง ๆ ผมก็โฟกัสในสิ่งที่ผมอยากจะถ่าย อยากจะเล่า อยากจะเอามาทำบทความ และเป็นความสุขที่เราทำได้เรื่อย ๆ

ดังนั้นการที่เราชอบอะไร แล้วถ่ายอันนั้น มันทำให้เราอยู่กับการฝึกฝนได้นานกว่า ได้แรงบันดาลใจที่เยอะกว่า แล้วอยากจะเก่งในแนวนั้น ๆ มากขึ้น บางครั้งเราไม่ต้องตามกระแสเยอะก็ได้ครับ ถ้ากระแสนั้นเราไม่ได้ชอบ อยากให้เลือกฝึกถ่ายภาพตามแบบที่เราชอบ ทำแล้วมีแรงบันดาลใจ ทำแล้วมีความสุขจะดีกว่า

รวมบทความถ่ายภาพ Portrait & Landscape ที่มือใหม่ต้องรู้

5. ฝึกใช้ระยะของการถ่ายภาพที่แตกต่างกันบ้าง จะเห็นมุมมองในการเล่าเรื่องเยอะขึ้น

ในบางครั้งการพยายามจัดองค์ประกอบภาพของเราก็ดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก หรือบางทีก็มีหลายวัตถุที่เเย่งความสนใจ ดังนั้นลองเปลี่ยนระยะการถ่ายภาพบ้าง อาจจะใช้การซูมเข้า (ซึ่งมันแลดูง่ายจนแบบ ห๊ะจริงเหรอ แค่เนี๊ยะ แต่จริงครับ ช่วยได้) โดยเลือกว่า จุดไหนที่เป็นจุดที่น่าสนใจ หรือสื่อเรื่องราวได้มากที่สุด ก็โฟกัส เเล้วซูมเข้าไปเลย อาจจะทำให้เราเล่าเรื่องได้ง่ายขึ้น

หรือบางครั้งเราลองถ่ายกว้าง ๆ ดู (ก็นั่นแหละ ซูมออก 555+) ระยะเปลี่ยน โลกเปลี่ยนครับ ลองฝึกใช้ระยะที่แตกต่างกันดู ผมว่ามันช่วยได้เยอะครับ (ไม่งั้นจะมีเลนส์หลาย ๆ ช่วงออกมาทำไม เนอะ ๆ ^^)

รวมบทความเกี่ยวกับเลนส์ถ่ายภาพที่มือใหม่ต้องรู้

6. ฝึกใช้ Adobe Lightroom บ้าง เพราะการแต่งภาพหรือ Post Process ทำให้เราไปไกลได้อีกเยอะเลย

โปรเเกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการเเต่งภาพโดยทั่วไป ได้เเก่ Adobe Lightroom หรือว่า Adobe Photoshop รวมไปถึงการใช้ฟิลเตอร์ที่มีอยู่ในอินสตาเแกรม สามารถทำให้การถ่ายภาพของเราไปได้ไกลขึ้นจริง ๆ นะ แค่เราฝึกที่จะปรับเเต่งสี เเสง ก็จะทำให้เราสามารถถ่ายทอดมุมมองของเราไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิมอีก

หรือบางครั้งภาพถ่ายของเราอาจจะผิดพลาดมาเพราะบางอย่าง เช่น White Balance เพี้ยน เราก็สามารถแก้ไขภาพถ่ายของเราได้เหมือนกัน แนะนำว่าถ้าใครไม่เคยลองฝึก อยากให้ลองเริ่มต้นกับสิ่งเหล่านี้ดู ช่วยได้เยอะเลยครับ

รวมบทความเกี่ยวกับ Adobe Lightroom ที่น่าสนใจ

7. หามุมมองที่เเตกต่างจากคนอื่นบ้าง โดยเริ่มต้นจากมุมมหาชนก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับตามมุมมองตัวเองไปด้วย

การถ่ายภาพให้มีมุมมองที่ต่าง เอาตรง ๆ ตอนแรกผมก็คิดไม่ออกหรอก จะไปคิดออกได้ไงเพราะเราก็เพิ่งหัดถ่ายภาพตอนนั้น แต่เริ่มต้นเหมือนการเรียนหนังสือเลยครับ เรียนรู้จากคนที่รู้ก่อน ฝึกถ่ายภาพจากคนที่เป็นก่อน เอามุมมองแบบที่เขามองก่อน แล้วลองทำสักระยะ เราจะเริ่มมีไอเดียครับ..

นั่นแหละ กระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ มันต้องเริ่มจากการทดลองทำ เลียนแบบ ฝึกฝนก่อน แล้วเอาไปต่อยอดจากประสบการณ์ผ่าน ๆ ที่เรามีมา ถ้าใครเคยได้ยินคำพูดของ Steve Jobs (ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับช่างภาพ แต่คำพูดนี้เปลี่ยนวิธีคิดของผมอย่างรุนแรงในหลาย ๆ ด้าน ด้านการฝึกถ่ายรูปและทำคอนเทนต์ก็ด้วย ไม่ได้แปลเป๊ะ ๆ เน้ออ)

You can’t connect the dots looking forward; you can only connect them looking backwards. So you have to trust that the dots will somehow connect in your future.

คือ เราไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ไปข้างหน้าได้ เราทำได้แค่เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ที่เราเรียนรู้ย้อนกลับไปได้เท่านั้น แล้วก็คิดและทำในสิ่งที่เราเชื่อ วันข้างหน้าสิ่งเหล่านี้แหละมันจะมีเกิดผลในอนาคต (จริง ๆ มันสื่อได้หลายมุมมากกว่านี้อีกเยอะนะ แต่ผมใช้คำพูดนี้ให้เหมาะกับการเรียนรู้ในบทความนี้)

นั่นแหละ ผมอยากให้กำลังใจของคนที่เริ่มถ่ายภาพ หรืออาจจะมี mindset กับตัวเองว่าเราถ่ายภาพไม่สวย ผมก็ถ่ายไม่สวยเหมือนกันแหละ แค่เริ่มจากมุมที่คนอื่นมีแล้วค่อย ๆ ทำความเข้าใจ แล้วก็มองย้อนกลับไปว่าเราอยากจะฝึกถ่ายภาพ แล้วเล่าเรื่องอะไรออกมา ก็ค่อย ๆ ทำแบบนั้นสลับกันไป สุดท้าย ผมก็รู้ตัวเองว่าชอบถ่ายภาพแล้วก็เล่าเรื่องแบบนี้แหละ แล้วก็เอามาเขียนบทความต่อ เอามาแชร์ต่อในสิ่งที่เรารู้แล้วแบ่งปันได้ ถึงได้มีเว็บนี้ไง 🙂

รวมบทความเกี่ยวกับการเพิ่มไอเดียและมุมมองในการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่

8. ฝึกถ่ายภาพให้คมชัด และฝึกการโฟกัสให้แม่นยำ

สิ่งที่หลายคนชอบมาก ๆ คือการถ่ายภาพออกมาให้คมชัด แน่นอนว่ามีปัจจัยหลายอย่างมาก ที่ส่งผลกับภาพถ่ายของเรา ที่จะทำให้ภาพถ่ายเกิดความคมชัด แล้วก็ไม่เบลอ ก็เริ่มตั้งแต่จุดที่เราเลือกโฟกัสในภาพ เรื่องของเลนส์ มีเรื่องของระบบโฟกัสเข้ามาเกี่ยวด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จำเป็นนะ แล้วก็มีบทความให้อ่านต่อแบบละเอียดด้วย ลองอ่านเพิ่มเติมได้ครับ

รวมเทคนิคการถ่ายภาพให้คม และเรื่องของการฝึกโฟกัสภาพ ระบบโฟกัสภาพ

9. การจัดองค์ประกอบภาพ ฝึก ฝึก ฝึก เพราะช่วยได้เยอะมาก ๆ เลยแหละ

การจัดองค์ประกอบภาพเป็นเรื่องที่สำคัญเเละต้องเข้าใจถึงการจัดวางองค์ประกอบ โดยกฎสำคัญที่จะต้องรู้เลยคือ The rule of thirds หรือกฎสามส่วนและจุดตัดเก้าช่อง ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของคนที่อยากถ่ายรูปจะต้องเรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีการจัดองค์ประกอบภาพอีกหลาย ๆ อย่างที่เราสามารถเรียนรู้ได้เลย (ถ้าคนอ่านคอนเทนต์ขาประจำในเว็บผมจะเห็นผมพูดทุกบทความเรื่องนี้ ฮ่า ๆ) ก็นั่นแหละครับ มันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นจริง ๆ นะ กับเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพเนี่ย

รวมบทความเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพ

10. ฝึกเข้าใจอารมณ์ของภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นหัวใจของการสื่อสารทางด้านความรู้สึก

ผมโดนเพื่อนด่าบ่อย ฮ่า ๆ เขาเป็นช่างภาพอาชีพ ซึ่งแรก ๆ ผมบอกตรง ๆ ผมก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องอารมณ์อะไรของภาพนักหรอก ก็ตั้งค่าแล้วก็กดถ่ายไป จนเพื่อนเริ่มมาบอกแหละว่า เคยสังเกตไหมว่าอารมณ์ของภาพเป็นแบบไหน

ถ้าเราเข้าใจ เราจะเริ่มออกแบบมุมมองภาพถ่ายได้ชัดเจนและสื่อสารให้คนดูเข้าใจได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเวลามองตาคน เรารู้ได้ไงว่าคนนี้เศร้า หรือคนนี้กำลังดีใจ นั่นแหละ อารมณ์ของสายตา หรือสิ่งที่เห็นกำลังสื่อสารของเราผ่านความรู้สึก

10 วิธีฝึกทักษะการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่, พื้นฐานการถ่ายภาพ, วิธีฝึกถ่ายภาพ, basic photography

อ่านบทความพื้นฐานถ่ายภาพเกี่ยวกับมือใหม่

– รวมทุกอย่างที่ต้องรู้ พื้นฐานการวัดแสง สำหรับมือใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ
– การตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายภาพบุคคล
– รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับรูรับแสงสำหรับมือใหม่
– รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ ISO สำหรับมือใหม่ และการใช้งานที่ถูกต้อง
– วิธีการใช้ Auto ISO สำหรับมือใหม่ และการตั้งค่าไม่ให้ Noise เยอะเกินไป

Exit mobile version