Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

12 เรื่องที่มือใหม่หัดถ่ายมักทำพลาด และวิธีแก้ไข

12 เรื่องที่มือใหม่หัดถ่ายมักทำพลาดและการแก้ไขเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดซ้ำ เมื่อเกิดความผิดพลาดกับภาพถ่าย มือใหม่อาจจะรู้สึกเสียใจเมื่อมันเกิดขึ้น และถ้ายิ่งเป็นภาพที่อาจจะเป็นโอกาสเดียวที่พลาดไม่ได้แต่กลับพลาด ยิ่งเสียใจและเสียดาย แต่เราก็สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดและแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก วันนี้เรามาดู 12 เรื่องที่มือใหม่มักทำพลาดเพื่อการเรียนรู้เพื่อจะแก้ไขจุดบกพร่องนั้นกันครับ

12 เรื่องที่มือใหม่มักทำพลาด และการแก้ไขเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดซ้ำ 

1. ไม่ได้ใช้ไฟล์ .RAW ในการบันทึกภาพ

จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ผิดอะไรถ้าจะถ่ายภาพโดยใช้ไฟล์ .jpeg เพราะคุณภาพของภาพสูงและใช้งานง่าย แต่การที่ใช้ไฟล์ .raw จะช่วยให้ช่างภาพได้มีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้มากกว่า ทั้งการปรับแสง แต่งภาพ เพราะหลายครั้งภาพที่ถ่ายออกมาแล้วดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ สีเพี้ยน แสงมืด เมื่อปรับแต่งค่าต่าง ๆ แล้วกลับพบว่าเป็นภาพที่สวยงามเลยก็มีครับ

ที่สำคัญบางจังหวะเรากลับไปถ่ายซ้ำไม่ได้ ถ้าถ่ายออกมาแล้วดูไม่สวย แต่งและปรับภาพไม่ได้คงน่าเสียดายครับ ดังนั้นการถ่ายภาพแบบ .raw ก็จะทำให้เรามีโอกาสได้ชุบชีวิตภาพบางภาพให้โดดเด่นสวยงามขึ้นได้ครับ 

2. ไม่รู้ว่าอะไรคือจุดโฟกัสหรือจุดเด่นของภาพ

การถ่ายภาพจุดสำคัญของภาพคือจุดโฟกัส หรือตัวแบบที่ต้องการนำเสนอ หรือพระเอกของเรื่องราวในภาพของเราครับ ซึ่งจะเป็นตัวที่บอกสายตาว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญในภาพ สายตาจะมองไปยังจุดนั้น แต่ถ้าถ่ายภาพแล้วไม่รู้ว่าอะไรคือจุดเด่น หรือจุดสำคัญในภาพสายตาของผู้ชมจะกวาดไปโดยรอบอย่างไร้ทิศทาง ภาพเลยดูไม่ทรงพลังหรือสื่อสารไม่ได้

สิ่งที่จะช่วยให้รู้ว่าอะไรคือจุดเด่น ช่างภาพต้องรู้ว่าอยากจะนำเสนอตัวแบบอย่างไร และการจัดวางตัวแบบให้อยู่ในจุดที่โดดเด่น สะดุดตา อาจจะใช้การจัดองค์ประกอบด้วยกฏสามส่วน เส้นนำสายตา การใช้กรอบภาพ การบอกโดยใช้ขนาด ใช้การเบลอพื้นหลัง เพื่อกำหนดให้รู้ว่าตัวแบบคืออะไร และจุดไหนที่ควรให้ความสนใจนั่นเองครับ 

3. ไม่เข้าใจกล้องที่ใช้อยู่ ความสามารถ จุดเด่น ข้อจำกัด

ก่อนเลือกซื้อกล้องเรามักจะดูคุณสมบัติและความสามารถในการใช้งานของกล้องแล้วจึงตัดสินใจซื้อ แต่เมื่อได้มาแล้ว การทำความรู้จักกล้องด้วยตัวเอง การหัดลองใช้ลองปรับเพื่อให้เข้าใจถึงจังหวะการใช้งาน การตั้งค่า เป็นหน้าที่ของเจ้าของกล้องเองที่จะศึกษา

อาจจะลองอ่านจากคู่มืออีกครั้งเกี่ยวกับการใช้งาน ข้อจำกัด และข้อควรระวัง เพื่อให้เข้าใจกล้องของตัวเองมากที่สุดถึงความสามารถ จุดเด่น ข้อจำกัด และฝึกใช้งานจนคล่องมือ เมนูไหน เปิดอะไร ใช้งานอย่างไร เพราะเมื่อถึงเวลาใช้งานจริงจะได้ไม่เกิดปัญหาที่หน้างาน หรือเสียเวลาเพื่อหาโหมดการทำงาน หรือการปรับตั้งค่าที่ต้องการ

4. ปรับโฟกัสพลาด โฟกัสหลุด จุดที่ควรชัดเบลอ และจุดที่เบลอควรจะชัด

ในบางครั้งเมื่อตรวจสอบภาพในจอหลังการถ่ายภาพอก็ดูเหมือนจะไม่มีความผิดพลาด แต่เมื่อกลับมาดูในจอคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า กลับพบว่าจุดที่ต้องการให้ชัดกลับเบลอ บางครั้งระบบออโต้โฟกัสของกล้องอาจจะจับโฟกัสผิดจุด เพราะระบบจะมองหาตำแหน่งที่มีความพอดีของแสง คือจะโฟกัสในจุดที่เห็นชัดนั่นเอง

แต่การถ่ายภาพในบางครั้ง ตัวแบบอาจจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่แสงลงมากระทบได้อย่างพอดี การโฟกัสจึงผิดตำแหน่งไปบ้าง ซึ่งการแก้ไขคือการตั้งค่าโฟกัสแบบ SINGLE-POINT เพื่อกำหนดตำแหน่งอย่างเจาะจง เพื่อให้โฟกัสไม่หลุดไปจากที่ต้องการ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเลนส์และกล้องด้วยว่าจะมีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด

5. ไม่เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของ Triangle Exposure 

ตั้งค่าถ่ายภาพแล้วภาพสว่างเกิน มืดเกินไป จนไม่สามารภแสดงรายละเอียดภาพได้อย่างครบถ้วน ทั้งยังอาจะเกิดการสั่นเบลอที่เกิดจากการตั้งค่าความเร็ซชัตเตอร์อีก ปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะเป็นปัญหาพื้นฐานที่ต้องเจอ เพราะแสงเป็นปัจจัยหลักในการถ่ายภาพ การเรียนรู้ที่จะควบคุมแสงจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจเป็นอันดับแรก ๆ 

Triangle Exposure เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแสงของภาพโดยจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจาก 3 ค่าคือ รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และ ISO และเมื่อเราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเล้วเราก็จะสามารถตั้งค่ากล้องเพื่อรับแสงได้อย่างถูกต้องตรงตามความต้องการ

6. ภาพดูแบน ไม่มีมิติลึกตื้น 

ถ้าไม่ต้องการเก็บรายละเอียดให้ชัดทั้งภาพ การถ่ายภาพให้เกิดมิติลึกตื้นก็กระตุ้นความน่าสนใจของภาพได้ นอกจากเรื่องแสงแล้ว รูรับแสงยังควบคุมมิติลึกตื้นของภาพได้อีกด้วย ลองปรับรูรับแสงดูแล้วจะรู้ว่าภาพที่ได้จะดูแตกต่างกันเลยนะ การถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอก็ปรับได้จากรูรับแสงนี่แหละโดยการปรับใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้น ยิ่งกว้างยิ่งละลายพื้นหลังได้ฟุ้งมากขึ้น

อีกวิธีหนึ่งคือการเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น หรือให้ตัวแบบออกห่างจากพื้นหลัง เมื่อถ่ายภาพก็จะเห็นว่าพื้นหลังเบลอไป เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคลที่ตัวแบบมีคนเดียวทำให้เกิดมิติลึกตื้นที่สวยงาม (แต่ถ้าถ่ายภาพแบบกลุ่มการใช้รูรับแสงกว้างอาจจะทำให้ภาพบางคนชัดบางคนเบลอได้)  

7. ถ่ายภาพจากระดับสายตาเท่านั้น

เมื่อเริ่มต้นถ่ายภาพ เรามักจะเริ่มการถ่ายภาพด้วยระดัยสายตา คือยกกล้องขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพที่อยู่ด้านหน้า แต่เมื่อฝึกฝนไปได้ระยะหนึ่ง การเปลี่ยนมุมกล้อง หรือการวางกล้องในมุมที่ต่างไป ก็สามารถสร้างความสนใจให้กับภาพได้ ดังนั้งอย่ายึดติดอยู่กับมุมกล้องที่ระดับสายตาเท่านั้น อาจจะลองว่างกล้องมุมต่ำ ถ่ายมุมสูง เอากล้องไว้ระดับเอว หรือวางบนพื้น เพื่อสร้างมุมมองใหม่ให้เกิดขึ้นนั่นเองครับ 

8. ไม่ได้สังเกตพื้นหลังว่ามีอะไรทำให้รบกวนความสำคัญของตัวแบบ

หลายครั้งมือใหม่มักกังวลกับเรื่องการตั้งค่า การจัดองค์ประกอบ การววางภาพจนลืมไปว่าด้านหลังของตัวแบบอาจจะมีบางอย่างอยู่ข้างหลัง อาจจะดึงความสนใจหรือทำให้ลดความสำคัญของตัวแบบลง ภาพที่ออกมา ตัวแบบอาจจะดูไม่โดดเด่นเท่าที่ต้องการ ดังนั้นเมื่อถ่ายภาพอย่าลืมดูพื้นหลังด้วยว่ามีอะไรหรือมีบางอย่างที่ไม่ควรอยู่ตรงตำแหน่งนั้นหรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะเลี่ยงโดยถ่ายมุมอื่น หรือถ่าเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ อาจจะต้องเบลอพื้นหลังเพื่อลดความสำคัญของเรื่องราวด้านหลังลง และความสำคัญจะกลับมาที่ตัวแบบ

9. เลนส์ระยะเดียวไม่ได้ตอบโจทย์การถ่ายภาพทั้งหมด

ในช่วงแรกที่ซื้อกล้องและเลนส์ตัวแรก อาจจะวางแผนแล้วว่าซื้อเลนส์ตัวเดียว เพื่อให้ตอบโจทย์การถ่ายภาพในทุกรูปแบบ แต่เลนส์ในระยะที่แตกต่างกัน มีความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน และให้ลักษณะภาพที่แตกต่างออกไปด้วยเช่นกันและในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตเลนส์พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีเลนส์ที่มีคุณภาพและตอบสนองการทำงานอย่างเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

เลนส์มีมทั้งมุมกว้าง เลนส์เทเลโฟโต้ เลนส์มาโคร จึงไม่แปลกที่จะเห็นช่างภาพมืออาชีพ มีเลนส์หลายระยะ รูรับแสงที่แตกต่างกันเพื่อไว้ใช้งาน ดังนั้นมือใหม่อย่างเรา ก็อาจจะต้องอยากได้เลนส์ตัวใหม่ หรืออัพเกรดคุณภาพและความสามารถของเลนส์ในอนาคตเป็นเรื่องธรรมตา 

10. ไม่แต่งภาพเลยหรือแต่งภาพมากเกินไป

ภาพที่เราเห็นในเว็บไซต์ขายภาพ หรือภาพที่ผ่านตาในเพจถ่ายภาพที่ดูสวยงามนั้น ได้ผ่านการบวนการปรับแต่งมาแล้วพอสมควร ภาพบางภาพผ่านกระบวนการจบแทบไม่เหมือนภาพเดิม ซึ่งการแต่งภาพจะช่วยให้ได้ภาพที่สวยงามอย่างที่ต้องการ และที่สำคัญการแต่งภาพยังช่วยให้ภาพที่ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ กลายเป็นภาพสวยขึ้นมาได้เลย

แต่อย่างไรก็ตาม การแต่งภาพก็ควรจะให้อยู่ในพื้นฐานของความสมจริง (ถ้าไม่ใช่ภาพแนวไอเดียหรือแฟนตาซี) สีและแสงไม่ดูโดดหรือดูเกินความเป็นจริง ดังนั้นไม่ยากเกินไปที่มือใหม่จะหัดถ่ายภาพด้วยและในขณะเดียวกันก็ฝึกแต่งภาพพร้อมกันไปด้วย

11. รีบลบภาพที่คิดว่าไม่ต้องการออกจากกล้อง ไม่ได้สำรองภาพก่อนที่จะลบภาพออกจากเมมโมรีการ์ด 

อย่างที่เราได้บอกไปว่าภาพบางภาพอาจจะยังพอแก้ไขเพื่อให้กลายเป็นภาพสวยได้ โดยผ่านการตัด ตกแต่ง หรือปรับแสง สีสัน เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบลบภาพที่คิดว่าไม่ต้องการออกจากกล้อง หรือฟอร์แมทจากกล้อง ถ้ายังไม่ได้สำรองภาพไว้ก่อน และการท่องเที่ยวบางที่บางแห่ง หรือบางสถานการณ์มีคุณค่าและอาจจะมีเพียงครั้งเดียวน่าเสียดายหากจะต้องเสียภาพด้วยการกดลบผิด แทนที่จะลบเพียงภาพเดียวกลับเป็นการล้างการ์ดทั้งแผ่น

เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจึงไม่ควรที่จะลบภาพที่ไม่ต้องการในกล้อง แต่ให้เก็บไว้ก่อนจบกว่าจะสำรองภาพลงไปในคอมพิวเตอร์ และทางที่ดีควรมีการ์ดสำรองไว้ใช้งานจะดีกว่า เพราะถ้าเมมเต็มจะได้ไม่ต้องลบแต่ใช้เมมโมรี่อีกตัวในการทำงานได้เลย 

12.  คิดว่าอุปกรณ์เสริมไม่จำเป็น

อุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาและทำให้การถ่ายภาพง่ายขึ้นได้ภาพที่สวยขึ้น เช่นขาตั้งกล้องช่วยยึดกล้องให้มั่นคง ถ่ายภาพได้คมชัด ลดการสั่นไหวหรือการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการขยับหรือแม้แต่การกดชัตเตอร์ก็สร้างแรงสะเทือนได้ไฟเสริมเพื่อเพิ่มแสงสว่างให้กับตัวแบบเพื่อให้เห็นรายละเอียดของตัวแบบไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของให้เห็นชัดเจนมากขึ้น

หรือฟิลเตอร์ถ่ายภาพฟิลเตอร์ที่ผลิตมาเพื่อป้องกันหน้าเลนส์ และฟิลเตอร์ลดแสงลดการสะท้อน เพื่อให้เห็นสีสันและรายละเอียดของภาพที่ถ่ายได้ชัดขึ้น อิ่มสีขึ้น หรือการถ่ายภาพเพื่อให้ได้เอฟเฟกต์ที่สวยงาม ซึ่งอุปกรณ์เสริมมีหลายแบบหลายราคาจึงสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานได้  

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND

อ่านบทความสำหรับมือใหม่

Exit mobile version