Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

12 วิธีถ่ายภาพสถาปัตยกรรมสำหรับมือใหม่ ให้ออกมาสวยและมีเรื่องราวนำเสนอที่น่าสนใจ

12 วิธีถ่ายภาพสถาปัตยกรรมสำหรับมือใหม่ ให้ออกมาสวยและมีเรื่องราวนำเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งในตอนนี้หลายคนก็ถ่ายภาพพื้นฐานกันเก่งขึ้นมาก ๆ การถ่ายภาพแนวต่าง ๆ ที่น่าสนใจและมีความท้าทายขึ้นก็เริ่มมีบทบาทเข้ามาสำหรับหลายคน ในวันนี้เรามาดูเรื่องนี้กันครับ

สิ่งที่ต้องรู้และเตรียมตัวก่อนถ่ายภาพแนวนี้ก็คือ

  1. อย่าลืมถ่ายภาพเป็น RAW File
  2. ขาตั้งกล้องดี ๆ สำคัญมาก
  3. เลนส์มุมกว้าง ยังไงก็ต้องมี (ถ้ายังไม่มีฝึกเรื่องการถ่ายภาพ Panorama แนวตั้งแนวนอนไว้เบย ช่วยได้)
  4. ถ้ามี Landscape Filter จะทำให้เราเติมเต็มสิ่งที่ต้องการได้เยอะขึ้น และสนุกกับการถ่ายเยอะขึ้น (พวก ND, PL, GND Filter ทั้งหลาย)
  5. การ Process ภาพก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เหมือนกัน

12 วิธีถ่ายภาพสถาปัตยกรรมสำหรับมือใหม่ ให้ออกมาสวยและมีเรื่องราวนำเสนอที่น่าสนใจ

1. ใช้เวลาในการศึกษาและเข้าใจกับสถานที่นั้นก่อน ค่อยวางแผนถ่ายออกมา

ในการถ่ายภาพสถานที่นั้น ๆ ถ้าหากว่าเราดูแค่มุมและถ่ายออกมาเลย อาจจะได้มุมที่สวยก็จริงนะ แต่ลองอ่านเรื่องนี้ก่อนจะทำให้เราสนุกมากขึ้นและมองว่าการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมดูสนุกและน่าสนใจมากกว่าเดิม

การใช้เวลากับสถานที่นั้น ๆ เช่น ใครเป็นคนสร้าง หรือสไตล์ที่เขานำเสนอ หรือมุม Signature ของสถานที่นั้นคืออะไร ถ้าเรายังไม่เคยถ่ายก็ควรถ่ายแนวมหาชนกลับมาด้วยนะ ค่อยถ่ายมุมที่เราไม่เคยถ่ายกลับมาอีกทีประมาณนั้น ดังนั้นการศึกษาสถานที่นั้นทำให้เรารู้ถึงเรื่องราวของตึก อาคาร สถาปัตยกรรมนั้น เป็นมายังไง นึกถึงประเทศในการท่องเที่ยวเรายังมีเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศนั้น เพราะงั้นเรื่องของอาคารเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภาพก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกันครับ

2. ระมัดระวังเรื่องของรูปเอียงในการถ่ายภาพ และขอบโค้งให้ดีนะ เรื่องง่าย ๆ แต่เอาจริง ๆ ก็ยากอยู่

มหากาพย์ในความยากที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ก็ปวดหัวเหมือนกันคือเรื่องของเส้นต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพ การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมถ้าจะเอาให้ดีจริงเรื่องเริ่มต้นก็พวกเส้น การเอียงของภาพ ขอบโค้งต่าง ๆ เป็นส่ิงที่ส่งผลต่อภาพรวมของภาพ

ดังนั้นระมัดระวังเรื่องของเลนส์ Ultra Wide ที่มีขอบโค้งหรือ Distrotion ด้วยครับ รวมถึงการถ่ายออกมาก็ระมัดระวังอย่าให้ตึกเบี้ยว สัดส่วนดูผิดปกติไป ขั้นตอนเก็บรายละเอียดพวกนี้ก็มีตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้คือเลนส์, กระบวนการถ่าย และการโปรเซสหลังคอมเลย (แต่เดี๋ยวจะเยอะไป เอาเป็นว่าระมัดระวังเรื่องของเส้นทั้งหลายไว้ก่อน)

รวมบทความเกี่ยวกับการเลือกใช้มุมมองที่หลากหลายในการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่

3. แสงคือปัจจัยหลักในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมภายนอกอาคาร เลือกช่วงเวลาและแสงในการถ่ายภาพให้ดี

การถ่ายภาพภายนอกอาคาร สิ่งสำคัญคือเรื่องของแสง และแสงก็สัมพันธ์กับเวลาว่าช่วงไหนแสงสวย เหมาะกับสถานที่นั้น ดังนั้นก่อนถ่ายภาพเหล่านี้ควรทำการบ้านเรื่องของเวลาและแสงมาด้วยครับ ว่าแสงช่วงไหนที่สวยและเหมาะกับสถานที่นั้น

ส่วนใหญ่เราจะถ่ายภาพในช่วง Golden Time หรือช่วงที่ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วก็ตก จะให้ท้องฟ้าสีสวย เราจะเห็นว่าคนที่ถ่ายภาพ Landscape หลายคนจะเลือกช่วงเวลานี้ในการถ่ายภาพเพื่อให้แสงสวยที่สุด การถ่ายภาพ Architecture ก็เหมือนกัน ถ้าถ่ายจากภายนอกอาคาร เรื่องของแสงกับช่วงเวลาควรให้ความสำคัญมาก ๆ ด้วยนะ

4. การถ่ายภาพภายในอาคาร ทำยังไงก็ได้ให้แสงไฟออกมาสวยที่สุด เราสามารถใช้ทั้งอุปกรณ์เสริมเรื่องแสงเข้ามาเติมตรงนี้ร่วมกับไฟในอาคารก็ได้

การถ่ายภาพด้านในอาคารสิ่งที่ยากคือ การทำแสงให้ออกมาสวย ซึ่งจะต่างจากด้านนอกที่เราศึกษาเรื่องช่วงเวลา มุมมอง ก็โอเคไประดับใหญ่ ๆ ละ แต่ว่าภายในอาคารจะมีเรื่องของ แสงจากภายนอกที่เข้ามา และการจัดการแสงภายใน รวมถึงถ้าหากจัดมุม, สถานที่ก่อนถ่าย ได้ด้วยก็จะดีมาก (ถ้าสถานที่เที่ยวก็ยากหน่อยนะ)

แต่โดยรวมแล้วภายในอาคารนั้นควรสังเกตเรื่องแสงที่เข้ามาให้ดีครับ เช่น ประตู หน้าต่าง ถ้ามีแสงที่เข้ามาจากภายนอกได้เยอะก็จะช่วยเราได้เยอะเหมือนกัน ซึ่งจะสัมพันธ์กับเวลาด้วยแหละ รวมถึงการสังเกตแสงที่ถูกตกแต่งในอาคาร ซึ่งเมื่อเปิดทุกดวงแล้วก็จะทำให้อาคารนั้นสวยแน่ ๆ รวมถึงถ้าหากใครถ่ายจริงจังและสามารถใช้ชุดแสงเสริมของเราร่วมได้ในการเติมส่วนนั้นให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็จะดีมากครับ

5. ถ่ายภาพเป็น High Dynamic Range หรือ HDR กลับมาด้วย เพราะช่วยให้ภาพมีรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างเยอะขึ้น

การถ่ายภาพ HDR หรือ High Dynamic Range เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ภาพถ่ายของเรามีรายละเอียดเยอะขึ้นทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่าง ซึ่งจะช่วยให้ภาพของเรามีรายละเอียดเยอะขึ้น เพราะว่าในการถ่ายภาพแนวสถาปัตยกรรมนั้นจะมีเรื่องของรายละเอียดในพื้นที่มืดและสว่างที่หายไปก็มีเยอะเหมือนกันนะ ดังนั้นถ่ายเป็น ​HDR เพื่อนำไฟล์กลับมา Process จะช่วยเราได้เยอะมากทีเดียว

บทความเสริมสำหรับเกี่ยวกับเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพ

6. อย่ามองข้ามเรื่องรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตัวอาคาร

เวลาที่เราถ่ายภาพแนวตึก อาคาร สถาปัตยกรรม ส่วนใหญ่เราก็จะมองเรื่องของภาพรวมว่าเป็นตึกทั้งตึก อาคารทั้งหมด แต่ว่าจริง ๆ แล้วรายละเอียดเล็ก ๆ อย่างลวดลายของเสา หรือเพดาน สิ่งต่าง ๆ ที่ถูกใส่รายละเอียดจากผู้ออกแบบและทีมผู้สร้างอาคารนั้น แท้จริงแล้วก็น่าสนใจนะ

ยิ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โบสถ์ อาคาร ซึ่งมีการออกแบบโดยการใช้ศิลปะในแต่ละยุค มีเรื่องราวและความน่าสนใจซ่อนอยู่ ซึ่งเราไม่ค่อยได้สังเกต ดังนั้นรายละเอียดเล็กน้อยที่เรามองเห็นก็ควรจัดมุมมองและถ่ายออกมา ถ้าหากย้อนกลับไปดูข้อแรกเลยสิ่งสำคัญคือการเข้าใจเรื่องราวของสถานที่นั้นจะทำให้เรามองเห็นรายละเอียดในข้อนี้มากยิ่งขึ้นครับ

7. ถ่ายมุมมองที่เรามองเห็นมาด้วย ไม่ใช่แค่มุมมหาชนอย่างเดียว

สิ่งหนึ่งที่มือใหม่อย่างเรามักจะกังวลคือ เราถ่ายไม่เหมือนคนอื่น หรือมีความคิดที่ว่าเราถ่ายไม่สวยเท่าคนอื่น ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ แล้ว ถ้ามันเป็นมุมมองที่เป็นสไตล์ของเราเอง การมองเห็นจากประสบการณ์ของเรา เรื่องราวของเรา นั่นเป็นสิ่งที่ดีมากนะ

การถ่ายมุมมหาชนออกมาก็ดีครับ แต่เราก็จะได้มุมที่เหมือนคนอื่น ถ้าจะหยุดแค่ตรงนั้นก็น่าเสียดายเหมือนกันนะ ดังนั้นเราก็ควรที่จะถ่ายภาพในโลกของของเรา ประสบการณ์ของเรา และมุมมองที่เป็นมุมของเรา ผ่านสายตาเรา อันนั้นจะเวิร์คมาก ๆ และเป็นการทำให้ภาพถ่ายของเรามีคุณค่าสำหรับตัวเราเองครับ

8. ใส่ใจเรื่องราวในภาพและเรื่องราวในสถานที่นั้นด้วยทุกครั้ง

ในภาพของสถาปัตยกรรมหรืออาคาร สถานที่ต่าง ๆ ที่เราได้ไป ไม่ใช่แค่จะให้เรามองหามุมสวย ๆ อย่างเดียว แต่สิ่งที่ทำให้ภาพมีชีวิต บางครั้งก็เป็นคน หรือเหตุการณ์ในสถานที่นั้นซึ่งทำให้ภาพมันเติมเต็มและมีชีวิต

ยกตัวอย่างห้องสมุด หรืออาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประชาชน หรือคนที่เข้าไปในอาคาร ความสวยงามของอาคารก็เรื่องนึง ส่วนคนที่ถูกเข้ามาเติมเรื่องราวก็อาจจะเป็นอีกเรื่องราวนึงที่น่าถ่ายทอดด้วยนะ ดังนั้นเราก็ควรจะใส่ใจในเรื่องราวของภาพทุกครั้งครับ

9. ใส่คนลงไปในภาพบ้างก็ได้ เพราะคนมีชีวิต ก็ทำให้ภาพถ่ายดูมีชีวิตได้

ขยายเสริมจากข้อ 8 เรื่องรายละเอียดตรงนี้อีกครั้งนึง สถานที่บางสถานที่อย่างที่บอกมันจะถูกเติมเต็มให้ภาพมีชีวิต เมื่อมีสิ่งที่มีชีวิตอยู่ในภาพ เช่น คน ในสถานที่นั้น ดังนั้นการที่เราถ่ายภาพออกมา ใส่ภาพคนลงไปด้วยก็ได้ครับ ทำให้ภาพดูมีชีวิตมากขึ้น

10. มองหามุมสะท้อนเงาต่าง ๆ เพราะทำให้ภาพดูน่าสนใจ

อันนี้เป็นเรื่องเทคนิคง่าย ๆ คือเรื่องของเงาสะท้อน หรือว่ามุมสะท้อนในภาพ เพราะทำให้ภาพถ่ายของเราดูน่าสนใจและดึงดูดสายตา ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายแต่ใช้ได้ดีเลยทีเดียว เทคนิคนี้จะใช้ถ่ายภาพอาคารหรือภาพ Landscape ก็ได้นะครับ

11. ลงทุนในอุปกรณ์ที่ต้องใช้ (แอบดูโหดร้ายเนอะ แต่จริงอ่ะ ฮ่า ๆ)

ข้อนี้แอบดูโหดร้ายนิดนึง แต่มันเลี่ยงไม่ได้เลยจริง ๆ การถ่ายภาพแนวนี้เราควรลงทุนกับสิ่งที่ต้องใช้ เช่น เลนส์มุมกว้าง หรือคนทำงานเนี๊ยบ ๆ เลนส์ Tilt-Shift ก็ช่วยได้เยอะครับ ขาตั้ง สายลั่นชัตเตอร์, ND Filter, PL Filter, GND หลาย ๆ อย่างที่ทำให้ภาพสมบูรณ์ขึ้นตามอย่างที่เราคิด ถ้าต้องใช้อุปกรณ์ที่ต้องใช้จริง ๆ ยังไงเผื่อใจเรื่องของการลงทุนในอุปกรณ์ไว้ด้วยครับ

12. ศึกษาเพิ่มเรื่องการ Process ภาพ เพราะช่วยได้เยอะกรณีที่ต้องปรับแต่งแก้ไขไฟล์ให้สมบูรณ์

สุดท้ายเลยคือเรื่องของการโปรเซสภาพ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งแสง สี รีทัช ปรับแก้ไขขอบโค้งของภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์มากเพื่อให้ภาพเราสมบูรณ์กับสิ่งที่เราคิดไว้ที่สุด ดังนั้นแบ่งเวลาเผื่อสำหรับเรียนรู้เรื่องนี้ไว้ด้วยนะครับ

รวมบทความพื้นฐานการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่

Exit mobile version