Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

รูรับแสง รวมพื้นฐานที่มือใหม่ต้องรู้

รูรับแสง (Aperture) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนเริ่มต้นถ่ายภาพจะต้องรู้ว่ามันคืออะไร มันส่งผลยังไงกับกล้องและภาพของเราบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ Portrait (ภาพบุคคล) หรือว่าภาพ Landscape (ภาพทิวทัศน์) เราก็ต้องตั้งค่ารูรับแสงให้เหมาะสมเพื่อที่จะถ่ายภาพได้ออกมาดีที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของคำศัพท์ที่เราต้องเข้าใจด้วย เช่น รูรับแสง (Aperture), f-stop(สต๊อป เรียกทับศัพท์) และ f-number (ค่ารูรับแสง) เดี๋ยวพวกนี้เราจะมาปูพื้นฐานที่ต้องรู้เกี่ยวกับรูรับแสงกัน

1. รูรับแสง คืออะไร? (Aperture)

รูรับแสงก็คือรูเล็ก ๆ ในเลนส์กล้องของเรา ซึ่งจะทำให้แสงมันผ่านตรงนี้ไปได้ จริง ๆ มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนะ ก็รูรับแสงไง 555+ แต่รูรับแสงที่ว่านี้มันจะขนาดที่เล็กหรือใหญ่นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับว่าเราใช้งานมันอย่างไรนั่นเอง

รูรับแสง, Aperture, กลีบรูรับแสง, พื้นฐานการถ่ายภาพ, basic photography, โบเก้

นอกจากนี้เมื่อเราส่องดูจากด้านหน้าเลนส์เข้าไป เราจะเห็นพวกกลีบรูรับแสงเหมือนใบมีด (Blade) เจ้าสิ่งนี้จะคอยทำหน้าที่เปิดและปิด เปลี่ยนขนาดรูรับแสง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรเข้าใจ เพราะหลัก ๆ มันเกี่ยวข้องกับความเข้าใจเรื่องการที่กล้องเรารับแสงเข้ามาและเอฟเฟคที่มันเกิดขึ้นกับภาพของเรานั่นเองครับ

2. รูรับแสงทำหน้าที่อะไร

รูรับแสงเป็นหนึ่งในสองส่วนซึ่งมีหน้าที่ในการรับแสง (อีกอันจะเป็นความเร็วชัตเตอร์) นั่นหมายความว่า รูรับแสง มีผลต่อปริมาณที่แสงเข้ามานั่นเอง ซึ่งกล้องจะรับแสงได้มากหรือน้อยก็อยู่ที่สิ่งนี้แหละ เรื่องนี้เราควรสัมผัส รับรู และเข้าใจให้ได้

เมื่อรูรับแสงกว้างขึ้นปริมาณแสงจะมากขึ้น ภาพสว่าง เมื่อรูรับแสงแคบลง ปริมาณแสงน้อยลง ภาพมืดกว่าเดิม : Soruce – Photographylife Aperture, กลีบรูรับแสง, พื้นฐานการถ่ายภาพ, basic photography, โบเก้

รูรับแสงที่ใหญ่ขึ้น (กว้างขึ้น) จะทำให้ปริมาณแสงผ่านเข้ามาที่กล้องได้มากขึ้น ถ้ารูรับแสงเล็กลง (แคบลง) ก็จะทำให้ปริมาณแสงเข้ามาน้อยลง สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากปริมาณแสงและสำคัญมากก็คือ มันส่งผลต่อระยะชัดของภาพ ความชัดลึก ชัดตื้น เดี๋ยวดูภาพเปรียบเทียบกันด้านล่าง

เมื่อรูรับแสงแคบ จะทำให้ระยะชัดมากขึ้น ส่งผลให้ภาพชัดทั้งภาพ แต่เมื่อรูรับแสงกว้าง จะเกิดระยะชัดบริเวณจุดที่โฟกัส – Aperture, กลีบรูรับแสง, พื้นฐานการถ่ายภาพ, basic photography, โบเก้

การปรับค่ารูรับแสง ก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกันที่จะทำให้เราได้ภาพตามที่เราต้องการ ว่าต้องการหน้าชัดหลังเบลอ การละลายหลังมากน้อยแค่ไหน อย่างการถ่าย Portrait ก็ต้องเปิดรูรับแสง F2.8 หรือส่วนใหญ่จะ F1.8-F1.4 เลยด้วยซ้ำ ส่วนการถ่ายภาพ Landscape หรือภาพทิวทัศน์ก็จะเปิดรูรับแสงที่ F8-F16 ก็เป็นไปได้

วิธีการปรับรูรับแสงนั้น เราจะใช้โหมด A (Aperture Priority) หรือโหมด แมนนวล (Manual Mode, Mode M) ก็ได้ เพื่อที่เราจะสามารถปรับค่ารูรับแสงให้ได้ตามต้องการครับ สำหรับใครที่อยากรู้เรื่องโหมดถ่ายภาพ สามารถอ่านเรื่องโหมดถ่ายภาพทั้ง 10 โหมดได้ที่นี่เลย

3. f-stop, f-number คืออะไร?

เมื่อเราเปลี่ยนขนาดของรูรับแสง f-stop เป็นเพียงจำนวนที่กล้องของเราแสดงให้เห็นว่าตอนนั้นรูรับแสงอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งเรามักจะเห็นอยู่ในกล้องของเราอยู่แล้วเช่น F1.8, F3.5, F5.6, F8, F16 เป็นต้น

ในภาพนี้ใช้ F-Stop ที่ F8 นั่นเองครับ, Source : Photographylife

4. ดูยังไงว่ารูรับแสงใหญ่ (กว้าง) หรือรูรับแสงเล็ก (แคบ)

หัวข้อนี้จริง ๆ อธิบายในหลาย ๆ ส่วนของเนื้อหานี้แล้วแต่เพื่อให้มือใหม่เข้าใจได้ง่ายสามารถดูตรงนี้ได้เลย ค่ารูรับแสงที่เลข f-stop น้อย นั่นคือรูรับแสงกว้าง และค่า f-stop มาก ๆ นั่นคือรูรับแสงแคบครับ ถ้ายังไม่เข้าใจดูจากด้านล่างได้จ้า

อ่านบทความเพิ่มเติมแบบละเอียดเกี่ยวกับพื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับมือใหม่

5. ควรใช้ค่า F เท่าไหร่สำหรับการถ่ายภาพ

คำถามนี้ตอบยาก เพราะมันแล้วแต่ว่าเราต้องการจะใช้รูรับแสงเท่าไหร่สำหรับภาพของเรา แต่ผมอธิบายคร่าว ๆ สำหรับคนเริ่มต้นนะ ย้อนกลับไปดูข้างต้นเลยจะเข้าใจว่าค่า F มันส่งผลต่อระยะชัดถูกไหมครับ แปลว่าถ้าเราต้องการถ่ายภาพบุคคล และละลายหลังเยอะ ๆ เราก็ต้องใช้ค่า F ที่มันน้อย ๆ อาจจะ F1.8-F1.4 หรือถ้าต้องการภาพคนที่ชัดทั้งภาพ ก็ต้องใช้ F8 เป็นต้น ในกรณีของภาพ Landscape ก็หลักการเดียวกัน

ทีนี้มันจะมีเรื่องข้อจำกัดนิดนึง มันมีเรื่องกายภาพเข้ามาด้วย ไม่ใช่ว่าทุกเลนส์จะใช้รูรับแสงได้เหมือนกันหมด มันอยู่ที่การออกแบบเลนส์ เลนส์บางตัวถ้าเป็นเลนส์ฟิกซ์ (ซูมไม่ได้) ก็จะได้รูรับแสงที่กว้างกว่า อาจจะ F1.4-F1.8 สบาย ๆ แต่ถ้าเป็นเลนส์ซูม อาจจะได้รูรับแสงกว้างสุดที่ F2.8 เป็นต้น เพราะงั้นจะซื้อเลนส์มาใช้ก็ต้องดูว่าจะเอาเลนส์นี้ไปเพื่อถ่ายภาพอะไร และควรใช้รูรับแสงแบบไหน ระยะไหนถึงจะเหมาะสมครับ, นอกจากนี้ เราไม่ค่อยสนใจหรอกว่า F แคบสุดของเลนส์ทำได้เท่าไหร่ เรามักจะสนว่ามันทำได้กว้างที่สุดเท่าไหร่นั่นเอง

Source – Photographylife
ภาพนี้ใช้ Nikon 20mm F1.8 ถ่ายที่ F1.8 เลย และตั้งบนขาตั้ง ทำให้ถ่ายภาพในที่มืดออกมากได้สว่าง , Source – Photographylife

6. รูรับแสง ที่มีผลต่อภาพในเรื่องของปริมาณแสง ความสว่างของภาพ

ค่า F (Aperture) ที่มีผลต่อปริมาณแสงของภาพ เป็นยังไงเดี๋ยวจะมาเปรียบเทียบให้ดูง่าย ๆ สมมุติว่าสภาพแสงไม่เปลี่ยน ความเร็วชัตเตอร์ไม่เปลียน ISO ไม่เปลี่ยน มีแค่ค่า F เท่านั้นที่ถูกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จากกว้างสุดไปแคบสุดก็จะเป็นแบบนี้ครับ

ตารางค่า F ที่มีผลต่อแสงในภาพ, Source – Photographylife
ตารางค่า F ที่มีผลต่อแสงในภาพ, Source – Photographylife

7. ใช้เลนส์แบบไหนถึงจะถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้

ยิ่งเราใช้รูรับแสงกว้างมากเท่าไหร่ ชัดตื้นมันก็จะมากขึ้น (หน้าชัดหลังเบลอง่ายขึ้น) ถ้าให้แนะนำเลยหาเลนส์ที่รูรับแสง F1.8 มาใช้รับรองว่าได้หน้าชัดหลังเบลอสะใจแน่นอน แต่ถ้าเกิดว่าอยากเข้าใจเรื่องการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอแบบละเอียดแล้วล่ะก็ดูวีดีโอตามนี้ก็ได้ครับ (ฝากติดตามบน YouTube ให้ด้วยก็ได้นะ)

8. คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องรูรับแสง และพื้นฐานการถ่ายภาพ

มีสองเรื่องถ้าหากว่ามีเวลาศึกษาเพิ่มเติมอยากจะให้อ่านเรื่อง พื้นฐานการถ่ายภาพที่ควรรู้ – Basic Photography ซึ่งตรงนี้ใช้เป็นพื้นฐานได้ดีครับ ส่วนอีกเรื่องนึงเป็นเรื่อง Triangle Exposure ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture – Shutter Speed – ISO เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าหากว่ามีเวลาอ่านก็ลองศึกษาเพิ่มเติมได้นะครับ

รวมบทความการถ่ายภาพพื้นฐานสำหรับมือใหม่

– การตั้งค่ากล้องสำหรับมือใหม่ เริ่มพื้นฐานจากศูนย์กันเลย
– ISO คืออะไร รวมทุกอย่างที่ต้องรู้เรื่อง ISO
– คำแนะนำสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพให้นิ่งและไม่เบลอ
– 7 ไอเดียการฝึกถ่ายรูปสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเล่นกล้อง

Exit mobile version