
47 เคล็ดลับการถ่ายภาพที่ต้องรู้สำหรับมือใหม่
47 เคล็ดลับการถ่ายภาพที่ต้องรู้สำหรับมือใหม่ เป็นเรื่องของการถ่ายภาพที่สนุกและน่าสนใจ แม้ว่าเราจะได้กล้องถ่ายรูปรุ่นใหม่ ๆ มา แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือเรื่องความรู้พื้นฐานและเทคนิคนี่แหละที่จะทำให้เราถ่ายภาพได้สวยขึ้นและสนุกยิ่งขึ้น เดี๋ยวเราไปดูกันครับว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ถ้าบทความยาวก็สามารถแชร์แปะไว้ที่เฟซบุ๊คแล้วกลับมาอ่านทีหลังได้นะครับ
47 เคล็ดลับการถ่ายภาพที่ต้องรู้สำหรับมือใหม่
1. เรียนรู้เรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพเยอะ ๆ แล้วเราค่อยหาทางแหกกฎเพื่อถ่ายภาพในสไตล์ของตัวเองทีหลังก็ได้
อยากให้เราทำใจเรียนรู้พื้นฐานการถ่ายภาพเยอะ ๆ เพราะกฎของการถ่ายภาพในพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพ หรือว่าจะเป็นเรื่องของ Triangle Exposure เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ควรจะรู้ไว้ในระดับเริ่มต้นครับ หลังจากนั้นค่อยเริ่มถ่ายภาพในสไตล์ตัวเองเพื่อแหวกแนวก็ได้นะ
– Tips สำคัญ –
พกกล้องทุกวัน ถ่ายภาพทุกวันที่มีโอกาสครับ แล้วก็คิดเรื่องมุมมองภาพที่ชอบเยอะ ๆ
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นฐานการถ่ายภาพที่ต้องรู้
- Basic Photography รวมพื้นฐานการถ่ายภาพที่มือใหม่ควรรู้
- Exposure Triangle พื้นฐานการตั้งค่า Aperture, Shutter Speed, ISO รู้เรื่องนี้ ถ่ายโหมด M ได้แน่นอน!
2. ฝึกโฟกัสให้เข้าก่อนที่จะกดถ่ายภาพ
ในเริ่มต้นเราอาจจะดูไม่ออกด้วยซ้ำว่าภาพไหนโฟกัสเข้าหรือไม่เข้า ไม่ก็ควบคุมการโฟกัสไม่เก่ง โฟกัสผิดจุดบ้าง แนะนำให้เรียนรู้เรื่องระบบโฟกัสและการโฟกัสภาพ เมื่อเราโฟกัสภาพได้เข้าแล้ว เวลาที่เราจัดเฟรมหลาย ๆ แบบจะทำให้เรารู้ว่าควรโฟกัสที่ไหน แนะว่าลองอ่านเรื่องวิธีถ่ายภาพให้คมชัดได้ที่นี่เลย

3. ฝึกโฟกัสที่ดวงตาเมื่อถ่ายภาพคน
เมื่อถ่ายภาพบุคคลไม่ว่าจะรูรับแสงไหนก็แล้วแต่ เริ่มต้นให้เราฝึกที่จะโฟกัสที่ดวงตา เพราะภาพ Portrait สื่อสารกันด้วยความรู้สึก อารมณ์ ส่วนใหญ่สายตาของคนดูก็จะมองไปที่ของตาคนในภาพ เพราะงั้นพื้นฐานที่ควรฝึกเลยคือการโฟกัสที่ดวงตาให้เข้า

นอกจากนี้ถ้าต้องการฝึกถ่ายภาพ Portrait ก็สามารถอ่านได้ที่นี่เลย เป็นไอเดียการถ่ายภาพ Portrait ที่เข้าใจง่ายมาก อาจจะหลายบทความหน่อยแต่เลือกอ่านได้เลย
รวมบทความถ่ายภาพ Portrait ที่น่าสนใจ
– การตั้งค่ากล้องเบื้องต้นสำหรับถ่ายภาพบุคคล
– 10 เคล็ดลับในการถ่ายภาพบุคคล
– 14 ไอเดียถ่าย Portrait แฟนให้สวย
4. ลองให้เยอะ เรียนรู้จากความผิดพลาดให้มาก
ความผิดพลาดมันมีอยู่แล้วไม่ว่าจะเริ่มต้นถ่ายภาพ หรือถ่ายมานานแล้ว แต่การที่เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้นนั่นแหละ ทำให้เราก้าวหน้าขึ้น เราอาจจะเผลอถ่ายภาพแล้วมืด ถ่ายภาพแล้วเบลอ หรือถ่ายภาพแล้วสีเพี้ยนต่าง ๆ นา ๆ อย่าไปกลัวครับ ทดลองถ่ายแล้วเรียนรู้การแก้ปัญหาควบคู่ไปด้วย

5. ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Triangle Exposure หรือความสัมพันธ์ 3 ค่าสำคัญคือ รูรับแสง – ความเร็วชัตเตอร์ – ISO
การรับแสงที่เหมาะสมในการถ่ายภาพประกอบด้วย การปรับสมดุลสามสิ่งได้แก่ การปรับค่ารูรับแสง (Aperture) – ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed) – ความไวแสง (ISO) เราสามารถเริ่มต้นถ่ายภาพในโหมดอัตโนมัติบางอย่างก่อนก็ได้เช่นพวก โหมด A (Aperture Priority), P (Program) – S (Shutter Priority) เมื่อเริ่มชำนาญแล้วให้ฝึกถ่ายภาพด้วยโหมด M ด้วยตัวเอง
แต่เพื่อให้สามารถควบคุมการถ่ายภาพได้ดั่งใจก็ควรเข้าใจทั้งสามค่านี้ทั้งหมด และความสมดุลที่เราจะใช้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการรับแสงในภาพเราโดยตรง สำหรับใครที่อยากจะอ่านเรื่องนี้โดยเฉพาะผมแนะนำสองเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องเกี่ยวกับโหมด P A S M ต่างกันยังไง และวิธีใช้โหมดพวกนี้ควรใช้ตอนไหน อีกเรื่องคือเรื่องของ Triangle Exposure เป็นความสัมพันธ์ทั้งสามค่าที่บอกไป แนะนำลองอ่านเพิ่มเติมดูครับ
6. เตรียมตัวให้พร้อมเสมอทั้งสมาธิและอุปกรณ์
การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอทั้งเรื่องอุปกรณ์ (หมายถึงอุปกรณ์พร้อมใช้ตลอดเวลา) ทำให้เราไม่ต้องเสียสมาธิไปกับการกังวลเมื่อต้องไปถ่ายภาพ ลองคิดดูุถ้าลืมชาร์จแบตเตอรี่ คงระแวงพอสมควร หรือไม่ก็เมมไม่พองี้ อุปกรณ์ควรต้องเตรียมให้พร้อมครับ นอกจากนี้สมาธิของเราควรต้องพร้อมในการถ่ายภาพด้วย เพราะบางครั้งจังหวะดี ๆ มันมาแค่แว๊บเดียว

7. ใช้รูรับแสงกว้าง ถ้าต้องการถ่ายภาพ Portrait ให้โดดเด่น หน้าชัดหลังเบลอ
การถ่ายภาพ Portrait ให้หน้าชัดหลังเบลอ เคยมีบทความสอนไว้แล้ว แต่อธิบายสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ คือพอรูรับแสงกว้างขึ้น F1.4 – F1.8 จะทำให้ฉากหลังละลายมากขึ้น ยิ่งทางยาวโฟกัสเลนส์ยิ่งมาก ยิ่งทำให้ตัวแบบเด่นออกมาจากฉากหลังมากขึ้นด้วย สิ่งสำคัญคือควรโฟกัสที่ตาด้วยนะ

8. ปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสมเพื่อป้องกันภาพเบลอ
โดยปกติแล้วภาพจะเบลอกรณีที่โฟกัสไม่เข้า อีกกรณีนึงคือความเร็วชัตเตอร์ไม่สัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสเลนส์ เช่น ใช้เลนส์ 50mm ก็ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์สัก 1/50 เพื่อป้องกันภาพสั่นไหว ถ้าเป็นเลนส์ระยะ 200mm ก็ควรใช้ 1/200 เป็นต้น ปัจจุบันกล้อง Mirrorless มีกันสั่นในตัว อาจจะทำให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าที่กำหนดได้เหมือนกัน ยังไงลองทดสอบดูนะครับ
นอกจากนี้ภาพยังเบลอได้ถ้าวัตถุเคลื่อนที่เร็วกว่าที่ความเร็วชัตเตอร์เราจะเก็บภาพได้ เรียนรู้เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับ Shutter Speed สามารถอ่านได้ที่บทความนี้เลย

9. ปรับภาพถ่ายให้ตรงกรณีถ่ายมาเบี้ยว อย่าปล่อยไว้แบบนั้น
ใส่ใจเรื่องการปรับภาพถ่ายให้มันดูตรงขึ้น หลาย ๆ ครั้งตั้งใจถ่ายยังไงเราก็อาจจะถ่ายภาพมาเอียงหน่อย ๆ ก็เป็นได้ สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นอาจจะคิดว่ามันไม่ได้สำคัญอะไร แต่จริง ๆ แล้วมันทำให้ภาพดูดีขึ้นเยอะมาก ๆ เลย

10. ดัน ISO บ้างถ้าความเร็วชัตเตอร์ไม่มากพอ ไม่เป็นไรหรอก
บางครั้งภาพที่เราได้มันเบลอเพราะความเร็วชัตเตอร์ไม่พอ แล้วเราไม่อยากใช้ความเร็วชัตเตอร์มากขึ้น เพราะแสงจะมืด ไม่อยากดัน ISO ด้วย อยากให้เปลี่ยนมุมมองใหม่เพราะการเพิ่ม ISO มันไม่ใช่เรื่องแย่อะไร แม้ Noise จะเยอะขึ้นหน่อย แต่การที่เราถ่ายภาพได้ เก็บจังหวะได้ เป็นสิ่งที่ดีในการเก็บภาพมา นอกจากนี้กล้องปัจจุบันใช้ ISO สูง ๆ ก็ยังเอาไปใช้งานได้สบาย
11. ใช้ตาทั้งสองข้างมองเมื่อถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นช่องมองแบบ Range Finder หรือช่องมองแบบปกติ
ข้อดีของการเปิดตาทั้งสองข้างจะทำให้เห็นสภาพแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น หรืออะไรกำลังเข้าเฟรมหรือออกเฟรมได้อย่างคล่องตัวอีกด้วย เช่นภาพกีฬาจะเห็นชัดเจน เราจะเห็นอะไรกำลังเข้ามาในเฟรม และกำลังจะเกิดอะไรขึ้น

12. ฝึกใช้ Exposure Compensation / การชดเชยแสง
หลาย ๆ ครั้งเราพยายามวัดแสงให้ได้พอดี แต่ว่ามันก็อาจจะดูมืดไปนิดหน่อย หรืออาจจะสว่างไปเล็กน้อย ไม่พอดี การชดเชยแสงจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยตรง และทำให้ภาพของเราได้อย่างที่เราต้องการ ลองอ่านเพิ่มเรื่องของการวัดแสงได้จากบทความนี้เลยครับ
การวัดแสง พื้นฐานการวัดแสง และระบบวัดแสง สำหรับมือใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ

13. ถ่ายอะไรก็ได้ที่เราชอบที่สุด หรือรักที่สุด
การถ่ายรูปคือความสุขในการเก็บประสบการณ์ หรือการเรียนรู้นั่นแหละ ให้เราเลือกที่จะถ่ายภาพสิ่งที่เราชอบจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น และอยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถที่จะข้ามข้อจำกัดของตัวเองได้มากขึ้นด้วย

14. ใช้เทคนิคในการถ่ายภาพแสงสะท้อน
มีโอกาสหลาย ๆ ครั้ง ที่เราจะถ่ายภาพแบบไม่เหมือนใคร แต่อาจจะต้องมองหามุมสะท้อนในวันที่ฝนตก หรือข้างทางที่มีน้ำขังและสามารถแสดงภาพสะท้อนออกมาได้ มันทำให้เราที่จะสร้างมุมมองใหม่ ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมเลยแหละ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคนี้กับกระจก หน้าต่าง หรืออะไรก็ตามที่มันสะท้อนได้ สามารถใช้ได้ทั้งหมด ลองอ่านเพิ่มในเรื่องของการถ่ายภาพสะท้อนได้นะครับ ผมเคยเขียนไว้เยอะเลยเกี่ยวกับการถ่ายภาพแสงสะท้อน

15. ถ่ายภาพในช่วง Golden Hour
ถ้าต้องการได้ภาพในช่วงที่ท้องฟ้าสวยที่สุด มันหนีไม่พ้นเรื่องการถ่ายภาพในช่วง Golden Hour ซึ่งเป็นช่วงที่ท้องฟ้าสีสวยมาก ๆ จะมีเวลาถ่ายแค่สองครั้งต่อวันเท่านั้นคือ ช่วงเช้าขณะดวงอาทิตย์กำลังขึ้น และดวงอาทิตย์ตก ซึ่งแสงสว่างเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะมันทำให้เราเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพ ความชมชัด ดีเทล์ต่าง ๆ เงา ในช่วง Golden Hour นี่แหละมันเป็นช่วงที่ท้องฟ้าสวยที่สุดแล้ว เหมาะกับการถ่ายภาพ Landscape มาก ๆ และถ้าถ่ายกับ Portrait ก็จะได้สีที่สวยเหมือนกัน ลองดูนะ

16. ควรพก Reflector หรือตัวสะท้อนแสงติดตัวไว้บ้าง
การที่มีตัว Reflector ติดตัวจะสามารถทำให้เราควบคุมแสงที่ต้องการได้มากขึ้น (มีดีกว่าไม่มี) ซึ่งการมี Reflector นี้ทำหน้าที่สะท้อนแสงไปยังจุดที่ต้องการได้นั่นแหละ อย่างเช่นถ่ายภาพอาหาร หรือว่าวัตถุต่าง ๆ เราสามารถที่จะใช้สะท้อนทิศทางแสงเข้าไปยังจุดนั้นได้ทันที ไม่ต้องเลือกซื้อของแพงก็ได้ เพียงแค่มีติดตัวบ้างก็จะดีมาก ๆ เลยแหละ
17. เรียนรู้เรื่องวิธีถ่ายภาพดอกไม้ไฟ (Firework Photography)
ดอกไม้ไฟเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก ๆ เป็นการถ่ายภาพที่เราควรจะถ่ายเป็น สามารถเรียนวิธีการถ่ายภาพพลุ หรือถ่ายภาพดอกไม้ไฟได้ที่บทความนี้เลย เพราะเขียนวิธีการแยกไว้แล้ว
18. เทคนิคการถ่ายภาพบุคคล
ถ้าหากเราเพิ่งมีโอกาสที่จะถ่ายภาพบุคคล อยากให้เราลองใช้แสงจากหน้าต่าง ให้แบบขยับเข้าไปใกล้หน้าต่าง อาจจะมีผ้าม่านใช้กรองแสง กระจายแสงบางส่วนได้ นอกจากนี้ถ้าไม่ต้องการให้เกิดแสงห้องมารบกวนตัวแบบก็ปิดไฟได้ครับ หรืออาจจะทดลองใช้แสงจากหน้าต่างนี้ร่วมกับแฟลชด้วยก็ได้

รวมบทความถ่ายภาพ Portrait ที่น่าสนใจ
– การตั้งค่ากล้องเบื้องต้นสำหรับถ่ายภาพบุคคล
– 10 เคล็ดลับในการถ่ายภาพบุคคล
– 14 ไอเดียถ่าย Portrait แฟนให้สวย
19. เทคนิคการถ่ายรูปสัตว์เลี้ยง
สัตว์เลี้ยงมีความเป็นคาแรคเตอร์ธรรมชาติค่อนข้างชัด เขามีลักษณะเฉพาะตัวของเขาที่น่าถ่ายภาพมาก เขาสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างจริงใจ(มันเฟคไม่เป็นหรอก 555) ซึ่งอยากให้เราลองถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์สัก 1/125, 1/500 ก็ได้เพื่อที่จะจับจังหวะเขา และถ้าสัตว์เลี้ยงบางประเภทเช่น สุนัข เราสามารถที่จะสั่งเขาได้ด้วยนะ สิ่งที่น่ารักที่สุดคือ สายตาเขาดูจริงใจ และเราก็ควรโฟกัสที่ตาเขาเหมือนการถ่ายภาพ Portrait ด้วย

20. เทคนิคการถ่ายภาพ Landscape
ภาพถ่าย Landscape มักจะนิยมถ่ายภาพในพื้นที่กว้าง ๆ มาก และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ว่าเราสามารถที่จะถ่ายภาพแบบในเมืองได้ด้วย ที่เราเรียกว่า Cityscape นั่นแหละ ภาพเหล่านี้จะสะท้อนอารมณ์ที่ทรงพลังของธรรมชาติ และแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่มาก ๆ ได้ด้วย สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราถ่ายภาพ Landscape ให้สวยนั่นคือการถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างบ้าง (ลองอ่านบทความได้นะ) และเรียนรู้เรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพให้สวย เพื่อมาประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพ Landscape ครับ

นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือมุมมองต่าง ๆ อยากให้ดูภาพถ่ายที่เราชอบเยอะ ๆ จากนั้นลองหาเลนส์ที่เราถนัดสำหรับภาพนั้น ๆ ดูครับ สำหรับผมชอบเลนส์มุมกว้างและ Telephoto ด้วย ครับ นอกจากนี้เราควรฝึกควบคุมระยะชัดให้ได้ด้วย เดี๋ยวผมแนบลิงก์แต่ละหัวข้อให้เรียบร้อยเลยจะได้เรียนเจาะทีละหัวข้อไปครับ 🙂
– 11 เทคนิคง่าย ๆ ในการทำให้เราถ่ายภาพ Landscape ได้สูงขึ้น
21. เรียนเทคนิคการถ่ายภาพปาร์ตี้
การถ่ายภาพในปาร์ตี้เราก็ควรจะเลือกใช้เลนส์รูรับแสงกว้าง และระยะควรเป็นพวกระยะเลนส์มุมกว้างด้วย อาจจะประมาณ 14-24mm ก็ได้ เพราะเราอาจจะต้องถ่ายภาพอยู่ในห้อง (ก็งานปาร์ตี้เนอะ) นอกจากนี้ควรใช้แฟลชแยก แต่ควรยิงขึ้นเพดานเพื่อกระจายแสง เพราะถ้ายิงตรงแสงจะแข็งแล้วมันไม่สวย นอกจากนี้ควรใช้พวกตัวกระจายแสงช่วยด้วย

22. ใช้เทคนิคการถ่ายภาพให้แสงเป็นเส้น
การวาดภาพด้วยแสงหรือว่าการถ่ายภาพให้แสงเป็นเส้น เราสามารถใช้เทคนิคนี้เพื่อที่จะสร้างความน่าสนใจให้กับภาพถ่ายของเราได้ โดยเทคนิคคือการเปิด Shutter Speed นาน ๆ แต่ก็ต้องถ่ายในพื้นที่แสงน้อยนะ เพื่อที่จะได้ใช้ชัตเตอร์ให้นานขึ้นได้ นอกจากนี้การถ่ายภาพให้แสงเป็นเส้นเราสามารถใช้อุปกรณ์พวกไฟเย็น หรืออุปกรณ์ที่ช่วยเหวี่ยงไฟแล้วใช้ร่วมกับเทคนี้จะทำให้แสงไฟของเราเป็นเส้นสวย ๆ ได้เลย

เทคนิคสำคัญเกี่ยวกับหัวข้อนี้
– ถ่ายภาพยังไงให้แสงเป็นเส้น
– 10 เทคนิคการถ่ายภาพ Long Exposure
23. ฝึกเริ่มต้นด้วยกล้องตัวคูณ (Crop Sensor) จะทำให้เราเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้น
ข้อดีของกล้อง Crop Sensor ทั้ง SLR และ Mirrorless เนี่ยแหละ ทำไมอยากให้เริ่มด้วยกล้องตัวคูณล่ะ เพราะว่าราคามันถูกกว่ากล้อง Full Frame นอกจากนี้น้ำหนักมันเบากว่า คุณภาพก็ถือว่าใช้ได้ดีมากแล้วในยุคนี้ และน้ำหนักเลนส์ก็เบา ราคาก็ถูกกว่า
นอกจากนี้ยังทำให้เราเข้าใจถึงข้อจำกัดในกล้องเล็ก ๆ อีกด้วยก่อนที่เราจะไปกล้องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการละลายหลังที่อาจจะทำได้น้อยกว่า, ข้อจำกัดเรื่องของระยะในการถ่ายที่แตกต่างเป็นต้นครับ


24. ใช้เลนส์ Fix เพื่อสร้างสรรค์ภาพของเราได้มากขึ้น และทำให้เรามีความ Creative มากขึ้น
การที่เราใช้เลนส์ Fix จะทำให้เรามีมุมมองในระยะเดียว ถ้าอยากจะได้มุมมองใหม่เราก็ต้องเดินถ่ายภาพเอง ดังนั้นเมื่อเราใช้เลนส์ฟิกซ์ทำให้เราได้มุมมองใหม่ ๆ เยอะ เพราะมันต้องเดินเยอะนั่นแหละ นอกจากนี้เรายังได้เลนส์ที่รูรับแสงที่ค่อนข้างกว้าง จะทำให้เราถ่ายภาพได้หลากหลายแบบมากขึ้นนะ

อ่านเพิ่มเติม : เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ FIX
25. อย่าทดลองทำความสะอาดภายในตัวกล้องด้วยตัวเอง ถ้ายังไม่ชำนาญมากพอ
อุปกรณ์ในตัวกล้องเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนจะทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดเซ็นเซอร์ หรือการแงะ แกะอะไร อย่าเลยครับ ถ้ามีปัญหาขึ้นมามันจะเสียเงินเยอะแล้วยาว แนะนำว่าถ้าจะทำความสะอาดใช้ลูกยางเป่าลมก็พอ หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดเฉพาะส่วนก็ได้ถ้าจำเป็นและไม่เป็นอันตราย

26. เรื่องอุปกรณ์ใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่ให้สุดก่อน ก่อนที่จะลองซื้ออะไรใหม่
ในการที่เริ่มต้นถ่ายภาพ เราไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ครบทุกอย่างเพื่อถ่ายภาพ อยากให้เราเรียนรู้ทักษะการถ่ายภาพไปกับอุปกรณ์ที่เรามีก่อน เพื่อฝึกตัวเอง และเพื่อฝึกนิสัยของเราไม่ให้เป็นคนถ่ายภาพเพราะอุปกรณ์ เป็นเรื่องง่ายที่เราจะซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ แต่เราก็ควรจะต้องใช้เวลากับสิ่งที่เรามีเพื่อสร้างสรรค์ภาพดี ๆ ออกมาจนแน่ใจแล้วว่าเราต้องการอุปกรณ์นั้นเพื่อตอบโจทย์ภาพใหม่ ๆ ที่เราอยากได้จริง ๆ และป้องกันไม่ให้เราใช้จ่ายในด้านอุปกรณ์อย่างเกินตัวอีกด้วย

27. เลือกเมมเล็ก ๆ หลายตัวอาจจะดีกว่าเลือกเมมใหญ่ ๆ ตัวเดียว
เป็นเรื่องที่ดีนะที่เราจะมีการ์ดหน่วยความจำที่ใหญ่ แต่ก็ต้องรู้อย่างนึงคือแม้ว่าข้อมูลดิจิตอลจะมีความเสถียรในการใช้งาน แต่ก็มีโอกาสที่้ข้อมูลเสียหาย หรืออุปกรณ์เสียหายในเวลาที่ไม่คาดคิดได้ ดังนั้นบางครั้งเราอาจจะไม่ต้องเลือกเมมใหญ่ ๆ ชิ้นเดียวอย่างเช่น 128GB อันเดียว เราอาจจะเลือกใช้แค่ 32GB สัก 4 ตัว หรือว่า 64GB สองตัวก็ได้ เพื่อป้องกันภาพสูญหายในปริมาณมาก

28. พิกเซลเยอะ ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างดีไปหมด
ความละเอียดของกล้องไม่ใช่ทุกอย่าง กล้องดิจิตอลไฟล์ละเอียดใหญ่ ๆ พิกเซลใหญ่ ๆ เหมาะกับคนที่ต้องการเอาไปพิมพ์บน Banner หรือโปสเตอร์ คืองานเฉพาะที่ต้องการไฟล์กล้องขนาดใหญ่จริง ๆ เพราะงั้นถ้าหากเรารู้ตัวแล้วว่าเราถ่ายภาพทั่วไป อัพลงเฟซบุ๊ค เราสามารถเลือกกล้องสัก 16-24 ล้านแค่นั้นก็มากเพียงพอแล้ว

29. ใช้ฟิลเตอร์กันรอยเพื่อป้องกันการขีดข่วน
แม้ว่าเราปิดเลนส์ด้วยฝาเลนส์ต่าง ๆ แต่ก็ยังมีโอกาสที่เลนส์จะเป็นรอยระหว่างการใช้งานได้อยู่ดี การเลือกใช้ Filter Protector จะทำให้เราสะดวกกว่า เวลาที่ใช้งานก็สบายใจได้ว่าเลนส์จะไม่เป็นรอย และคุ้มค่ากับการลงทุนแน่นอน

30. เรียนรู้เรื่องกฎสามส่วน
สำหรับการจัดภาพที่ต้องการให้เกิดความสมดุล พื้นฐานเรื่องกฎสามส่วนคือกุญแจสำหรับเรื่องนี้ เรื่องกฎสามส่วนนี้เป็นพื้นฐานที่ง่ายมากและผมเคยเขียนให้อ่านสองครั้งแล้ว สามารถเลือกอ่านได้เลยครับ เพราะเรื่องกฎสามส่วนนี้เราแทบจะได้ใช้ตลอดเวลา ลองอ่านดูนะ

31. ลองเปลี่ยนมุมมองเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
ถ้าถ่ายภาพด้วยในระดับสายตาอย่างเดียวจะทำให้เรารู้สึกภาพดูงั้น ๆ น่าเบื่อ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเคยชินจากการเห็นในสายตาของเรา อยากให้เราลองถ่ายจากมุมต่ำก็ได้ งัดเสยขึ้น ก็จะทำให้ภาพถ่ายเราดูแปลกตามาขึ้น เมื่อมันแปลกตาภาพก็จะดูน่าสนใจมากขึ้น หรืออาจจะถ่ายจากมุมสูงลงมาด้วยบ้างก็ได้ มันจะทำให้เราได้มุมมองที่น่าสนใจมากขึ้น

32. เลือกจัดเฟรมและองค์ประกอบให้เหมาะสมเพื่อสร้างภาพที่เล่าเรื่องได้ชัดเจนมากขึ้น
การเลือกครอปภาพหรือเพิ่มเติมสิ่งที่ควรมีอยู่มีอยู่ในภาพ จะทำให้เราสามารถที่จะบอกเล่ารายละเอียด หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คนดูเข้าใจได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น คนในภาพนกนี้ไม่ควรอยู่ในเฟรม เพราะแย่งความสนใจจากสิ่งสำคัญไป นั่นคือนก การครอปคนออกจะทำให้การเล่าเรื่องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

33. ถ่ายภาพด้วยแนวตั้งบ้าง
โดยปกติเราจะถ่ายภาพ Landscape หรืออะไรก็ตามเราก็ถ่ายแนวนอน ดังนั้นการเล่ารายละเอียดได้มุมมองใหม่ ๆ มากขึ้นเราลองถ่ายภาพด้วยแนวตั้งดู จะสามารถเล่าเรื่องอีกแบบได้เหมือนกัน และมันน่าสนใจได้มากขึ้นด้วยแค่หมุนมุมกล้องแค่นั้นเอง เพราะงั้นถ่ายภาพทั้งแนวตั้งและแนวนอนกลับมาด้วยแม้ว่าจะเป็นสถานที่เดียวกัน

34. ใช้เส้นนำสายตา
ภาพที่มีองค์ประกอบที่แย่จะทำให้คนดูงงกับสิ่งที่เรานำเสนอ เพราะงั้นการมีเส้นนำสายตาจะช่วยให้คนที่ดูภาพเรานั้นมีทิศทางที่นำสายตาเขามายังจุดสายตาได้อย่างชัดเจน และเข้าใจเนื้อหาในภาพเราได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เส้นนำสายตายังบอกเล่าให้เห็นความลึกของภาพได้ หรือแม้แต่ทำให้เขากวาดสายตามองในรอบ ๆ ภาพของเราได้ด้วยครับ

อ่านเทคนิคเพิ่ม : การใช้เส้นนำสายตากับภาพ Landscape
35. ใส่ใจกับระยะชัด ทั้งชัดลึก และชัดตื้น ว่ามันคืออะไร และฝึกใช้ให้เป็น
ในตอนเริ่มแรกเราชอบถ่ายภาพที่หน้าชัดหลังเบลอ อะไรก็ถ่ายให้หลังละลายหมด แต่ความเป็นจริงมันมีความเหมาะสมในการใช้ระยะชัดให้ถูกต้องอยู่ เช่น ถ้าเราถ่าย Landscape หรือถ่ายภาพคนที่ต้องการพื้นหลังด้วย เราต้องใช้ระยะชัดที่มาก ใช้รูรับแสงที่แคบ เพื่อบอกเล่ารายละเอียดให้ครบ

แต่เมื่อต้องการเจาะจงที่จะเล่ารายละเอียดแค่ส่วนนั้น ๆ เราอาจจะใช้ระยะชัดตื้น เพื่อให้ฉากหลังเบลอและเน้นรายละเอียดที่จุดนั้น ๆ ก็พอครับ เพราะงั้นสิ่งสำคัญของเนื้อหานี้อยากให้เรารู้ว่า ชัดลึก ชัดตื้น ต่างกันยังไง เป็นแบบไหน และควรใช้เมื่อไหร่นั่นเอง
36. เรียนรู้การจัดองค์ประกอบภาพจากคนที่เราชอบ หรือภาพที่เราชอบ และคิดกระบวนการย้อนกลับว่าเขาถ่ายภาพแบบนั้นออกมาได้ยังไง
ภาพสวย ๆ ที่เราชอบส่วนใหญ่มักจะผ่านประสบการณ์มาเยอะแล้ว เราสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องแนวคิด วิธีการถ่าย และกระบวนการต่าง ๆ เราอาจจะยังไม่รู้ ให้เราเลือกศึกษาจากหนังสือ หรือว่าเว็บสอนถ่ายภาพก็ได้ มนุษย์เกิดมาและเติบโตด้วยการเรียนรู้และเลียนแบบ การถ่ายภาพก็เหมือนกัน ก็แค่เรียนรู้และเลียนแบบจากคนที่เก่ง แล้วค่อยหาวิธีการที่เป็นในแบบของเราก็ได้

37. ให้มีพื้นที่ว่างในภาพถ่ายบ้าง
เมื่อเวลาเราจัดคอมโพสต์ภาพ ควรให้มีพื้นที่ว่างในเฟรมบ้าง ถ้าถ่ายแล้วจัดทุกอย่างแน่นไปหมดจะทำให้มันดูผิดธรรมชาติ ควรมีช่องว่างในภาพบ้างครับ

38. บางครั้งก็ลองถ่ายให้เต็มเฟรมบ้าง (คนสอนบ้าหรือเปล่า เดี๋ยวให้ถ่ายภาพว่าง เดี๋ยวให้ถ่ายเต็มเฟรม 5555+)
อันนี้พูดจริง ๆ คือบางครั้งการที่เราต้องการเล่าอะไรที่เฉพาะเจาะจงตรงนั้น เราสามารถที่จะจัดภาพให้เต็มเฟรมไปเลย เพื่อที่จะเน้นย้ำเพื่อบ่งบอกรายละเอียดตรงนั้น ก็เป็นอีกแนวทางนึงในการถ่ายภาพเพื่อเล่าเรื่องได้อย่างชัดเจน

39. บางครั้งภาพแย่ ๆ มันอาจจะมีอะไรดี ๆ อยู่ก็ได้ อย่าเพิ่งลบออก
บางภาพที่เราถ่ายเราอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้สวย หรือคอมโพสต์แย่ รวม ๆ ว่ามันไม่ดีแหละ ลองซูมดูรายละเอียดก่อนครับ บางครั้งเนี่ยภาพที่เราว่าแย่ มันครอปแล้วออกมาดี ออกมาสวยก็ได้เหมือนกัน อยากให้เราลองมองหารายละเอียดในภาพนั้นก่อนที่จะตัดสินมันว่าภาพนั้นแย่จริง ๆ

40. ลองทำนอกกรอบบ้าง
บางครั้งเราอาจจะรู้สึกเครียดไปกับกฎการถ่ายภาพ คืออะไรเยอะแยะนักหนาต้องทำตามหมดเลยเหรอ จริง ๆ ไม่ใช่หรอกครับ จริง ๆ พวกพื้นฐานกับกฎเป็นแค่แนวทางแค่นั้น แต่มันไม่ใช่ทุกอย่างของการถ่ายภาพ สิ่งสำคัญคือเมื่อเราสัมผัสได้กับความรู้สึกชอบหรือความรู้สึกที่เป็นแรงบันดาลใจพิเศษที่จะถ่ายภาพแบบนั้น ก็ถ่ายมาในสิ่งที่ตัวเราบอกเลยก็ได้ เพราะหลาย ๆ ครั้งความรู้สึกตรงนี้แหละทำให้ภาพของเราดูเป็นเอกลักษณ์ในแบบเรา และมันเป็นสิ่งที่พิเศษเฉพาะมุมมองของคน ๆ นั้น

41. เรียนรู้เรื่อง Histogram
เรื่อง Histogram เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันจะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจข้อมูลของแสงที่กล้องเก็บมาได้ และทำให้เรารู้ว่าควรปรับปรุงแก้ไขอะไรเมื่อถ่ายภาพมาแล้ว ลองดูบทความในการอ่าน Histogram ที่ผมเขียนไว้ได้ครับ ทำไว้ละเอียดมาก ๆ เลย

42. ควรถ่ายภาพด้วย RAW ไฟล์ หรือ JPEG + RAW ก็ได้
การถ่ายภาพด้วย RAW ไฟล์จะทำให้เราได้ไฟล์ภาพที่ละเอียดที่สุดที่กล้องจะทำได้ และเหมาะกับคนที่นำภาพไปแต่งต่อหรือว่านำไปแก้ไขทีหลังได้ดีที่สุด ลองอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการถ่ายภาพด้วย RAW vs JPEG อะไรดีกว่ากัน ก็ได้ครับ
ถ้าหากว่าเราต้องการได้ภาพเพื่อมาอัพ Social ด้วย แนะนำให้ถ่ายภาพด้วย JPEG+RAW จะทำให้เราสามารถนำภาพ JPEG มาใช้ได้เลยกรณีที่ไม่ได้ซีเรียสอะไร

43. ถ้าถ่ายภาพจับสถานการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้ ให้ฝึกใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง
ในการถ่ายภาพกีฬา หรือสิ่งที่มันเคลื่อนไหวรวดเร็วตลอด งานอีเวนต์ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย การถ่ายภาพด้วยโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องนั้นจะทำให้เราเก็บภาพได้หลาย ๆ เฟรมในจังหวะสั้น ๆ ได้ ทำให้เรามีโอกาสได้ภาพที่ดีเยอะกว่าการถ่ายทีละภาพ ซึ่งการออกแบบกล้องให้ถ่ายรัว ๆ ได้ออกแบบมาเพื่อสถานการณ์แบบนี้นี่แหละ

44. ควรใช้โหมดถ่ายภาพให้ถูกต้องเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด
การเลือกใช้โหมดถ่ายภาพได้อย่างเหมาะสมจะทำให้เราถ่ายภาพได้สะดวก ได้จังหวะภาพที่ดีที่สุด ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจโหมดกล้องทั้งหมด ผมเคยเขียนบทความทั้ง 10 โหมดของกล้องที่มือใหม่ต้องรู้ และโหมดถ่ายภาพ A P S M ต่างกันยังไง และควรใช้โหมดเหล่านี้ตอนไหน การรู้จักโหมดเหล่านี้จะทำให้ได้เราได้ภาพที่ดีขึ้นครับ เพราะจังหวะเราดีขึ้น และถ่ายง่ายขึ้น

45. อย่าใช้แฟลชหัวกล้องเป็นแสงหลัก
การใช้แฟลชหัวกล้องแสงจะแข็งมาก ถ้าจะใคร ควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นจริง ๆ เมื่อไม่มีแสงจริง ๆ อะไรแบบนั้น ถ้าอยากใช้แฟลชเป็นหลักจริง ๆ ควรมีแฟลชแยกมากกว่า

46. ใช้โหมดอัตโนมัติได้ตามใจ ตามที่ตัวเองถนัด ถ้าหากว่าโหมด Auto นั้น ๆ ทำให้เราสามารถถ่ายภาพได้ดีขึ้น
หลาย ๆ ครั้งผมใช้โหมด Auto หลาย ๆ อย่าง เช่น Auto ISO เพื่อให้กล้องคิดแทนเรา หรือจะใช้โหมด A (Aperture Priority) เพื่อเลือกรูรับแสงนั้น ๆ ที่เหลือให้กล้องมันคิดเอง ทำให้เราโฟกัสที่สมาธิกับการถ่ายภาพได้มากขึ้น

47. ฝึกใช้ Custom White Balance บ้าง บางครั้ง Auto White Balance ของกล้องอาจจะเพี้ยนได้
บางครั้ง White Balance Auto มันอาจจะไม่ตรงตามที่เราคิด หรือมันอาจจะเพี้ยนไปเลยก็ได้เพราะแหล่งกำเนิดแสงอาจจะมาจากหลายทิศทาง เพราะงั้นให้เราฝึกใช้ Custom White Balance บ้างนะครับ หรือจะอ่านบทความเกี่ยวกับ White Balance คืออะไรก็ได้ครับ ผมเขียนไว้เหมือนกัน

source : https://www.borrowlenses.com/blog/photography-tips/
Tag:apsc, apsc camera, basic compostion, basic photography, COMPOSITION, digital camera, Focus Point, Full Frame, full frame camera, ISO, landscape, landscape photography, mirrorless, photoschoolthailand, portrait, Portrait Photography, travel, การจัดองค์ประกอบภาพ, การชดเชยแสง, การถ่ายภาพพื้นฐาน, การถ่ายรูปสัตว์เลี้ยง, การโฟกัส, การโฟกัสภาพ, ความเร็วชัตเตอร์, ความไวแสง, พื้นฐานการถ่ายภาพ, มิลเรอร์เลส, รูรับแสง, สอนถ่ายภาพ, สอนถ่ายภาพฟรี